ในการต่อสู้กับกลยุทธ์ด้านราคา(Price Strategy) สามารถเรียกลูกค้าได้ก็จริง แต่ถ้าหากโรงแรมขนาดใหญ่ใกล้เคียงตั้งราคาขายในราคาที่ถูกมาก จนโรงแรมขนาดเล็กไม่สามารถที่จะตั้งราคาถูกเข้าสู้ได้ ก็จะเกิดการเสียเปรียบ เพราะฉะนั้น โรงแรมขนาดเล็กควรพิจารณาอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สามารถเรียกลูกค้าได้เหมือนกัน กลยุทธ์ที่ว่านี้คือกลยุทธ์ด้านการสร้างความแตกต่าง “Differentiation Strategy”
กลยุทธ์ความแตกต่าง เป็นการเพิ่มการให้บริการที่มีคุณค่าเพิ่มเติม เพื่อเป็นเหตุผลที่จะดึงลูกค้าให้เลือกพักโรงแรมของคุณ ประโยชน์ของกลยุทธ์นี้ที่เด่นชัดเลยคือ “การมีคู่แข่งที่น้อยราย” โดยเฉพาะกับโรงแรมใหม่ที่ยังไม่มีใครเหมือน ยิ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม(Value Added) ทำให้สามารถตั้งราคาขายห้องพักในราคาที่สูงได้ หลาย ๆ โรงแรมอาจทำกันอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายโรงแรมที่ไม่ทราบถึงกลยุทธ์นี้
โดยเราสามารถวิเคราะห์การสร้างความแตกต่างในแต่ละด้าน ดังนี้
1. คู่แข่ง (Competitors) สิ่งแรกที่ต้องเข้าใจก่อนการวางแผนสร้างความแตกต่าง คือ หาว่าโรงแรมไหนคือคู่แข่งขันของเราบ้าง เพราะเราไม่สามารถการสร้างความแตกต่างให้กับโรงแรมได้เลยถ้าปราศจากคู่เปรียบเทียบ วิเคราะห์ว่า Product Service อะไรที่เขามีแล้วเราไม่มี อีกอย่างที่สำคัญคือ “การเลือกคู่แข่งขัน” ควรเป็นโรงแรมในระดับเดียวกัน การเลือกโรงแรมที่ถูกต้องก็จะได้กลุ่มแขกเป้าหมาย (Market Segment) ที่ถูกต้องในการทำตลาดด้วย
2. ความแตกต่างด้านผลิตภัณฑ์ (Product Differentiation) สำหรับโรงแรมผลิตภัณฑ์คือห้องพักและสิ่งอำนวยความสะดวก ในการสร้างความแตกต่างต้องยึดหลักที่แขกต้องได้รับความสะดวกสบายและมีความรู้สึกพึงพอใจกับความแตกต่างที่ได้สัมผัสจากการมาพักมากที่สุด สามารถนำ 2 หลักการนี้มาเป็นแนวทางได้คือ
- Feature ความแตกต่างด้าน “คุณสมบัติเฉพาะ” เช่น ขาย Concept ย้อนยุคก็ถือเป็นการสร้างความแตกต่างอีกแบบหนึ่งซึ่งเราสามารถเลือกได้ว่าจะสร้างความแตกต่างโดยการเพิ่มเทคโนโลยีหรือเน้นความมีสไตล์ในการสร้างจุดขายเฉพาะตัว
- Emotional สร้างความแตกต่างด้านอารมณ์และความรู้สึก เช่น การสร้างความภาคภูมิใจในการได้มาใช้บริการกับโรงแรม ทำให้แขกมีความรู้สึกว่า “ฉันได้มาที่นี่แล้วนะ” ที่เป็นความภูมิใจของแขกในการได้บอกต่อสิ่งนี้กับคนอื่น การมีมุมสวย ๆ ให้แขกถ่ายรูป มีจุดที่แสดงความเป็นอัตลักษณ์ของโรงแรมให้แขกได้สัมผัสและสร้างความสุขทางอารมณ์เป็นอีกจุดหนึ่งที่สำคัญ
3. ความแตกต่างด้านความคุ้มค่า (Value) ในกรณีที่เป็นโรงแรมขนาดเล็ก แม้เราจะไม่สามารถลดราคาได้เท่ากับโรงแรมขนาดใหญ่ อาจใช้การสร้างความแตกต่างโดยการเน้นความคุ้มค่าเข้ามาแทนที่ได้ เช่น การนำเอากลยุทธ์ Full Board, Half Board หรือ All Inclusive ขายห้องพักรวมมื้ออาหารมาใช้ได้ เพราะแม้จะมองว่ามีต้นทุนด้านอาหารเพิ่มแต่ถ้าเปรียบเทียบกับความคาดหวังในมื้ออาหารของแขกระหว่างโรงแรมระดับ Luxury กับโรงแรมขนาดเล็ก แขกย่อมคาดหวังต่างกัน นั่นคือข้อดีของต้นทุนค่าอาหารที่อาจไม่สูงมากนักเพียงแต่เราต้องให้ความสนใจกับเมนูและการนำเสนออาหารที่แขกต้องรู้สึกว่าคุ้มค่าจริงๆ โดยอาจจัดเป็น Set Menu หรือ Seasonal Food เป็นต้น
4. ความแตกต่างด้านบริการ (Service) เป็นเรื่องปกติที่หลาย ๆ โรงแรมพยายามสร้างมาตรฐานการบริการให้ดีและแตกต่าง เพียงแต่ในช่วงที่การแข่งขันในอุตสาหกรรมดุเดือดเช่นนี้การทำ Service Design ใหม่ หรือแม้แต่ Revise นั้นอาจเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก จึงจำเป็นต้องทำการบ้านหนักเพื่อหาความแตกต่างในด้านบริการ เช่น อาจจะให้พนักงานแต่งตัวและจำลองตามเทศกาลต่าง ๆ เป็นต้น
5. ความแตกต่างด้านการสื่อสาร (Communication) เป็นการวางแผนการสื่อสาร เลี่ยงที่จะพูดถึง “การลดราคา” ไม่ให้เป็น Key Message ในการดึงดูดแขก แต่ใช้การสื่อสารโดยเน้นการพูดถึงความแตกต่างที่โรงแรมมีมากกว่าคู่แข่งขัน อาจจะใช้การทำ Story Telling เข้ามาประยุกต์ในการสื่อสาร สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ “ความถี่” ของการสื่อสารที่ไม่ควรมากไปหรือน้อยไป ดังนั้นโรงแรมควรศึกษาพฤติกรรมและเวลาที่จะใช้ในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละช่องทางให้ละเอียด
โดยการสร้างความแตกต่างอาจ “ไม่ใช่” กลยุทธ์ที่เหมาะกับแขกทุกกลุ่ม แต่เป็นกลยุทธ์ที่ “เหมาะสำหรับแขกบางกลุ่ม” ที่ต้องการ “ความแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร” เท่านั้น เพราะหากกลยุทธ์ความแตกต่างเจอกลุ่มลูกค้าที่ให้ความสำคัญเรื่อง “ส่วนลดของราคา” มากกว่ากลยุทธ์นี้ก็อาจไม่ประสบความสำเร็จ
ทั้งหมดเป็นเพียงแนวทางในกรณีที่โรงแรมขนาดเล็กไม่สามารถลดราคาลงเพื่อเข้าสู้สงครามราคา (Price War) ได้ แต่กับโรงแรมที่ไม่ได้เจอปัญหาเรื่องสู้ราคา ก็สามารถนำไปเพิ่มเติมรายละเอียดและประยุกต์ใช้ได้เช่นกันครับ
ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก : แหล่งที่มา